Frequently Asked Questions

FAQs (คำถามที่ยอดฮิต คำถามที่มักถาม)

Σ1~2 คืออะไรและใช้งานยังไง และทำไมผมถึงได้คลั่งไคล้ 1~2


Σ1~2 คืออะไร?
-Σ1~2 คือซิกม่าที่เริ่มตั้งแต่ 1 และสิ้นสุดที่ 2 เป็นระยะเลขที่สั้นเพราะมีเลขเพียง 2 ตัวในการคิดคำนวณและมีความยืดหยุ่นมากกว่าซิกม่าระยะเลข 2 ตัวอื่นๆ เนื่องจากเลข 1 และ 2 เป็นจำนวนที่น้อยจึงง่ายต่อการคำนวณ สามารถเข้าถึงเลขได้แทบทุกช่วง

Σ1~2 ใช้อย่างไร?
-วิธีการใช้ Σ1~2 ไม่มีอะไรยากครับถ้าหากท่านเข้าใจนิยามซิกม่ามากพอจะสามารถประยุกต์ต่อได้เยอะมากๆ Σ1~2 เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัวและอาจจะตายตัวได้ในเวลาเดียวกัน อาจจะฟังดูแล้วสับสนวกไปวนมา Σ1~2 จะดื้นได้ดีเมื่อคำตอบยังไม่เกินหลักพัน เมื่อคำตอบหลักพัน Σ1~2 จะค่อนข้างตายตัวเนื่องจากสูตรอาจจะเข้าถึงได้ยาก

ทำไมถึงคลั่งไคล้ Σ1~2?
-เนื่องจากเข้าถึงได้ง่ายกว่าและมีเงื่อนไขที่หลากหลายสามารถประยุกต์ได้ง่ายมากกว่า จึงเป็นเหตุผลที่ผมชอบใช้ Σ1~2

ควรเริ่มต้นใช้ Σ อย่างไร


ควรเข้าใจนิยามซิกม่าแบบถ่องแท้ก่อน แล้วตอนใช้ซิกม่าจะราบรื่นมากกว่าการที่เราจำแค่สูตรซิกม่า เพราะการจำแค่สูตรจะไม่สามารถนำสูตรมาประยุกต์ได้เนื่องจากขาดความเข้าใจในนิยามของซิกม่า

ถ้าจะฝึกคิดเลขเร็วให้เริ่มจากอะไร


ไม่ควรจำสูตรตั้งแต่ต้น เพราะมันไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แนะนำว่าให้เข้าใจนิยามเครื่องตัวดำเนินการทุกตัวก่อน หลังจากนั้นผมจะหาแค่สูตรพื้นฐานที่จำเป็นเท่านั้น เช่น สูตรคูณแม่ 4!,5! หรือซิกม่าพื้นฐานต่างๆ (ซิกม่าพื้นฐานเช่น i, i+i, i*i, i/i, i^i, i!, i!+i!, i!+i, i^i! ฯลฯ) พอเราเริ่มเข้าใจนิยามและเรียนรู้สูตรพื้นฐานต่างๆแล้ว สิ่งที่เราจะทำต่อไปคือการหาเลข หาเลขในที่นี้คือ สมมติว่าเรามีเลข 1 กับ 3 เราจะมานั่งหาว่า 1 กับ 3 สามารถทำเป็นเลขอะไรได้บ้าง หรือคำตอบ 24 มันสามารถเกิดจากอะไรได้บ้าง ในช่วงนี้อาจจะเปิดสูตรควบคู่ไปได้ พอเราเริ่มหาเลขคล่องพอเจอโจทย์มันจะฉลุยขึ้นมากๆ (ถ้าไม่เห็นภาพว่าการหาเลขทำยังไง สามารถไปดูช่อง Youtube ของครูยะ) หลังจากผ่าน 3 ช่วงนี้แล้วก็กางปีกโบยบินได้เลย อาจจะเริ่มหาสูตรซิกม่าเฉพาะ สูตรที่ดูยิ่งใหญ่อลังการเขียนยากๆ แล้วก็อย่าทิ้งการเขียน!!!เพราะการเขียนสำคัญต่อคะแนน

ฝึกคิดเลขเร็ว 3 หลักยังไงดี? ควรเริ่มจากอะไรก่อน


การที่จะทำ 3 หลักได้ พื้นฐาน 2 หลักและสูตรพื้นฐาน 3 หลักต้องแน่น ผมมองว่าการยัดสูตรเฉพาะหรือสูตรเน้นตรงภายในเวลาสั้นๆแทบไม่ได้ช่วยอะไรมีแต่จะรกตอนแข่ง ดังนั้นในเคสนี้ควรฝึกพื้นฐานให้แน่น ตัวพื้นฐานมีไม่เยอะ แนะนำพวกเลขยกกำลัง , (!) แฟกทอเรียล แล้วก็ Σ พื้นฐาน และที่สำคัญตอนฝึกแนะนำให้ฝึกเป็นช่วงๆไปครับเช่น 100-199 600-699 แบบนี้จะช่วยทำให้เราแม่นในช่วงคำตอบนั้นมากขึ้นกว่าการสุ่มธรรมดาทั่วไป พอเราแม่นแต่ละช่วงแล้ว ค่อยลองกลับไปสุ่มตั้งแต่ 100-999 ปกติ และ 1 ข้อควรได้วิธีคิดมากกว่า 1 วิธี ถ้าพอไหว เพราะจะช่วยขยายมุมมองของเราในการมองเลขมากขึ้น ใช้แค่ตัวพื้นฐานก็คะแนนก็สูงได้ถ้าฝึกและเข้าใจตัวเลขในแต่ละช่วงมากพอ

ควรจำสูตรอะไรก่อนดี


ก่อนจำสูตร ควรเข้าใจนิยามของแต่ละตัวดำเนินการก่อน ถ้าไม่เข้าใจ ถึงจะจำสูตรกี่ร้อยกี่พันสูตร ก็ไม่สามารถคว้าอันดับต้นๆหรือเหรียญทองได้ เนื่องจากการจำแค่สูตรจะทำให้ประยุกต์สูตรที่จำมาไม่ได้ และเมื่อประยุกต์ไม่ได้ การแก้โจทย์ในแต่ละข้อจึงเป็นไปได้ยากมากขึ้น

ทำไมตอนซ้อมแล้วได้คะแนนดี แต่ตอนแข่งคะแนนกลับน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้


จากกรณีดังกล่าว ถือว่าเป็นเคสที่พบได้ค่อนข้างที่จะมากเลยทีเดียวเนื่องจากอาจจะเกิดจากการซ้อมที่ผิดพลาดหรือผิดเกณฑ์บ้าง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันคือ "ความนิ่งและไม่ตื่นเต้น" ปัจจัยนี้ถามว่ามันสำคัญขนาดไหน ก็...ผมให้สัก 80% ของการแข่งละกันครับซึ่งผมส่วนตัวผมเห็นด้วยครึ่งนึงไม่เห็นด้วยครึ่งนึง เนื่องจากถ้าแค่เราจำสูตรมาแม่นๆหรือมีสติไม่ตื่นเต้นวันแข่ง ก็ได้อันดับต้นๆได้สบายๆ ซึ่งผมไม่ค่อยชอบจุดนี้ของการแข่งขันเท่าไหร่เพราะอาจจะไม่ได้ดึงประสิทธิภาพคนแข่งมาได้มาพอเท่ากับการแข่งขันชิงถ้วยพระเทพฯของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ที่ปิดจุดบอดในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี จนสังเกตได้เลยว่า มีคนได้เหรียญทองในสนามนั้นน้อยกว่าสนามอื่นๆมากๆ เพราะถ้าแค่มีความนิ่งหรือไม่ตื่นเต้น ก็ไม่สามารถทำให้ได้อันดับต้นๆหรือเหรียญทองได้

กรรมการ PhotoMath คืออะไร?


กรรมการ PhotoMath คือกรรมการที่ใช้ PhotoMath ในการถ่ายหรือตรวจสมการแต่ส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายมากกว่าพิมพ์ซึ่งทำให้วิธีทำที่เด็กนักเรียนเขียนมาคลาดเคลื่อนได้ ทางออกที่ดีควรใช้ Desmos ในการตรวจกระดาษคำตอบของผู้เข้าแข่งขันจะดีกว่าใช้ PhotoMath สแกนถ่าย

แฟกทอเรียลยกกำลังคืออะไร?


เป็นอีก 1 คำถามทีอาจจะมีไม่มากก็น้อยคนสงสัยว่า ! ยกกำลังนี่มันคืออะไร แฟกทอเรียลยกกำลังถ้าอธิบายให้เห็นภาพง่าย ยกตัวอย่างเช่น 2กับ3 ต้องการทำให้ได้ 36 แน่นอนว่ามองไม่ยากครับนั่นคือการใช้ 3!=6 -> 6^2=36 ใช่ไหมครับ นี่แหละครับคือแฟกทอเรียลยกกำลัง

เขียนวิธีทำยากเกินไปกรรมการจะตรวจหรือไม่?


โดยหน้าที่แล้ว ไม่ว่าวิธีนั้นจะยากหลุดโลกแค่ไหน กรรมการก็ต้องตรวจตามหน้าที่ ซึ่งได้มีหลายเขตพื้นที่ ที่เมื่อเด็กนักเรียนทำวิธียากๆไปแล้วเลือกที่จะไม่ตรวจเพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ถ้าหากวิธียากเกินไปหรือคิดตามไม่ทัน ก็ยังมีเครื่องคิดเลขอย่าง Desmos ช่วยในการคำนวณอยู่ ดังนั้นไม่ว่าวิธีจะยากแค่ไหน กรรมการก็ต้องตรวจ

ก่อนเริ่มการแข่งขันควรจัดการตัวเองอย่างไร


มีหลากหลายวิธีในการจัดการตัวเองก่อนแข่งขัน แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ควรเป็นการหาอะไรทำผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับครู เพื่อนๆ หรือการทำสิ่งบันเทิงใดๆก็ตาม หรือบางคนอาจจะซ้อมนิดหน่อยเพื่อให้หายตื่นเต้นเมื่อไปเจอเลขในสนามแข่งจริงๆ ซึ่งประเด็นที่สำคัญอีกอย่างเลยคือ "พี่ครับ เขาเก่งกว่าผมเยอะเลย ผมทำคะแนนได้ไม่ดีแน่ๆ" หรือไม่ก็ "โหพี่ หนูว่าสนามนี้หนูสบายๆค่ะ เท่าที่ดูหนูน่าจะคิดได้มากกว่าคนอื่นๆแน่นอนค่ะ" ใครมีความคิดเหล่านี้ตอนก่อนแข่งพึงระลึกไว้เสมอนะครับ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะเก่งกว่าหรืออ่อนกว่าเรา คนเหล่านั้นไม่ได้ช่วยให้คะแนนเราเพิ่มขึ้นหรือลดลง คะแนนทั้งหมดออกมาจากปากกาของท่าน ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับท่าน ไม่ใช้ผู้เข้าแข่งขันคนอื่น

เราจะขอดูกระดาษคำตอบได้อย่างไร ต้องทำอย่างไรและเนื่องในกรณีใดได้บ้าง


เราจะขอดูกระดาษคำตอบได้ก็ต่อเมื่อแข่งขันเสร็จแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะขอดูกระดาษคำตอบตอนหลังจากการประกาศคะแนน และผู้เข้าแข่งขันเกิดข้อสงสัยในกระดาษคำตอบของตนเอง ซึ่งสามารถขอดูได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสนามแข่งขันแต่ละทีด้วยว่าสามารถดูได้ไหม

ซึ่งมันควรจะขอดูได้ทุกสนามผลกระดาษคำตอบไม่ใช่ความลับ สนามไหนที่ไม่อนุญาตให้ดู ก็ขอให้รับรู้ไว้นะครับ ว่าอาจจะมีการตรวจที่ไม่โปร่งใสเกิดขึ้น (ผมเจอมาบ่อยมากครับ ดังนั้นสงสัยไว้ก่อนดีที่สุดครับ ส่วนจะแก้ปัญหาต่อจากนี้แบบไหน ก็อยู่ที่หน้างานเลยครับ)

ทำไมตอนพลาด 1 ข้อแล้วถึงพลาดข้อต่อๆไปด้วย มันเกิดจากอะไรและมีวิธีแก้ไขอย่างไร


ขอตอบง่ายๆสั้นๆในคำถามนี้เลยครับ เนื่องจากเรากำลังตื่นเต้นไงครับ พอเราพลาดข้อหรือสองข้อ เราจะเริ่มจมปลักกับข้อที่พลาดไปเมื่อสักครู่ หรือพูดง่ายๆคือสติหลุดนั่นแหละครับ ดังนั้นทางแก้คือ พลาดแล้วพยายามปล่อยผ่านแล้วเริ่มต้นใหม่ครับ พึงระลึกไว้เสมอนะครับ ของที่ทำผิดพลาดในอดีตไปแล้ว เรากลับไปแก้ไขมันไม่ได้ การจมปลักไม่ได้ช่วยอะไร ดังนั้นควรหาทางแก้ไขจากความผิดพลาดของเราที่จะตามมาดีกว่าครับ